ข่าวเด่น ข่าวร้อนวันนี้ : กรุงเทพธุรกิจ

26 กุมภาพันธ์ 2553

มติเสียงข้างมาก ยึดคืนเงินปล้นชาติ 4.6 หมื่นล้าน!

ASTV ผู้จัดการ : ศาลพิพากษาข้อต่อสู้ของ “ทักษิณ” โดยมีติเป็นเอกฉันท์ในประเด็นศาลมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ และ คตส.มีอำนาจตรวจสอบโดยชอบ รวมทั้งประเด็นสำคัญ วินิจฉัยว่า “ทักษิณ” ใช้นอมินีถือหุ้นแทนจริง

วันนี้ (26 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศาลฎีกา องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา ในฐานะเจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา, นายพิทักษ์ คงจันทร์ ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา, นายพงศ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, นายอดิศักดิ์ ทิมมาศย์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา, ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล รองประธานศาลฎีกา, นายประทีป เฉลิมภัทรกุล ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา, นายกำพล ภู่สุดแสวง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และนายไพโรจน์ วายุภาพ รองประธานศาลฎีกา ได้ขึ้นนั่งบัลลังก์เริ่มอ่านคำพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 76,000 ล้านบาท

ในรายละเอียดของคำฟ้อง แสดงให้เห็นถึงกลอุบายอันแยบยลที่ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกพ้อง กระทำการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ของชาติ กล่าวคือ เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2544 - มีนาคม 2548 ได้ปกปิดการถือหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,149,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรส (คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา) เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แต่ใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ถือหุ้นแทนจำนวน 458,550,000 หุ้น น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 604,600,000 หุ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 20,000,000 หุ้น และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นแทนจำนวน 336,340,150 หุ้น โดยที่บริษัท ชินคอร์ป เป็นบริษัทได้รับสัมปทานกิจการโทรคมนาจากรัฐ ซึ่งเป็นการฝ่าผืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540, พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ม.32, 33 และ 100 ซึ่งมีความผิดอาญา ม.119 และ 122

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้เอื้อประโยชน์ชินฯ และบริษัทในเครือ ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการ มอบนโยบาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้บังคับบัญชา หรือกำกับดูแล ซึ่งกระทำการที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก แก้ไขสัญญามือถือ แก้ไขสัมปทานดาวเทียม ปล่อยกู้พม่าซื้อสินค้าชินฯ และแก้กฎหมายเอื้อบริษัทครอบครัว

ท้ายคำฟ้อง อัยการขอให้ศาลออกหมายเรียก พ.ต.ท.ทักษิณ มาพิจารณาพิพากษายึดทรัพย์สิน เป็นเงินที่ได้มาจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น ให้กับกลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท ซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท แอสแพนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งนิติบุคคลต่างด้าว เป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม 69,722,880,932.05 บาท และเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว รวมเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 6,898,722,129 รวมเป็นที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมดจำนวน 76,621,603,061.05 บาท พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากร่ำรวยผิดปกติและมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ

ศาลมีอำนาจพิจารณาคดี-มติเอกฉันท์

วินิจฉัยในประเด็นแรก คือ ศาลมีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ ตามที่ผู้คัดค้านคัดค้านหรือไม่ โดยวินิจฉัยว่า การตรวจสอบของ คตส.เป็นไปตามกฎหมาย และเป็นไปตามอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ตามมาตรา 9 (1) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นมติเอกฉันท์

วินิจฉัย คตส.มีอำนาจตรวจสอบโดยชอบ-มติเอกฉันท์

ประเด็น วินิจฉัยต่อมา คตส.มีอำนาจถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่า เป็นการดำเนินการภายใต้ขอบอำนาจตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ส่วนที่ คตส.แต่งตั้งอนุ คตส.นั้น เห็นว่า คตส.ใช้อำนาจตามประกาศ คปค.สามารถแต่งตั้งได้ และไม่ล่วงเลยระยะเวลาตามที่ผู้คัดค้าน ทำการคัดค้าน เพราะมีกรอบเวลาชัดเจน หากไม่เสร็จสิ้นต้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อ ทั้งหมดเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฏหมาย รวมทั้งประเด็นที่คตส.บางคน เช่นนายกล้านรงค์ จันทิก นายบรรเจิด สิงคะเนติ และนายแก้วสรร อติโพธิ เป็นปฏิปักษ์ของผู้ถูกร้อง แต่งตั้งเป็นประธานอนุฯ คตส.นั้น ชอบแล้วด้วยกฎหมาย และ ป.ป.ช.จึงมีอำนาจดำเนินการแทน คตส.ได้ก็ชอบแล้วด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ คดีนี้ไม่เกี่ยวกับคดีอาญา แต่เป็นคดีแพ่ง จึงไม่จำเป็นต้องให้ผู้ถูกกล่าวหามา ศาลมีมติเอกฉันท์ ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้

ปกปิดอำพรางหุ้น-มีนอมินี-มติเอกฉันท์

ประเด็นวินิจฉัยผู้ถูกกล่าวหาปกปิดอำพรางหุ้นหรือไม่ วินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 วาระ ยังถือหุ้นไว้ แต่ปี 2549 รวบรวมหุ้นทั้งหมดขายให้เทมาเส็ก โดยมีการโอนหุ้นให้กับผู้คัดค้านหลายคนจริง ผู้ถูกกล่าวหาแม้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2544 แล้ว ผู้ถูกกล่าวหามีอำนาจดำเนินนโยบายและแต่งตั้งกรรมการในบริษัทชินคอร์ปจริง การควบคุมนโยบายของผู้ถูกกล่าวหาผ่านทางคณะกรรมการบริษัทชินคอร์ปจริง มีมติเป็นเอกฉันท์ ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 มีหุ้นในเทมาเส็กจริง

การแปลงสัมปทานฯ เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป-มติเสียงข้างมาก

วินิจฉัยว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป และเป็นเหตุให้ชาติเสียหาย เพราะภาษีสรรพสามิตหายไป 6 หมื่นล้านเศษ มีมติด้วยเสียงข้างมาก ผู้ถูกกล่าวหา ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ตราพ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ ทำให้ชาติเสียหาย

แก้ไขสัญญามือถือเอื้อชินคอร์ป-มติเสียงข้างมาก
กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (CELLULAR MOBILE TELEPHONE) ลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 (ครั้งที่ 6) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่าย เงินล่วงหน้า (PREPAID CARD) ให้กับบริษัท เอไอเอส ซึ่งจากการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ 6 )ดังกล่าวส่งผลให้บริษัท เอไอเอส จ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงิน ล่วงหน้า ให้แก่ บริษัท ทศท ในอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 จากเดิมที่ต้องจ่ายตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นแบบก้าวหน้าในอัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543-30 กันยายน 2548 และในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2548-30 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และกรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (CELLULAR MOBILE TELEPHONE) ฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2533 (ครั้งที่ 7) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (ROAMING) และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ป และบริษัท เอไอเอส การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ให้บริษัท เอไอเอส เข้าไปใช้เครือข่ายร่วมผู้ให้บริการรายอื่นมีผลต่อการจ่ายเงินผลประโยชน์ที่ บริษัท เอไอเอส ต้องจ่ายให้กับ บริษัท ทศท. และบริษัท กสท.ไม่น้อยกว่า 18,970,579,711 บาท กลายเป็น บริษัท เอไอเอส จะได้รับผลประโยชน์ที่ไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งบริษัท ชินคอร์ป ที่ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เอไอเอส ดังนั้นผลประโยชน์ที่บริษัท เอไอเอส ได้รับดังกล่าวจึงตกกับหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯที่ผู้ถูกกล่าวหาถือในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้หุ้นมีมูลค่าสูงขึ้น จนกระทั่งได้มีการขายหุ้นให้กับกลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์

วินิจฉัยว่า ภาระเอไอเอสลดน้อยลง แต่มีรายได้เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 44-49 โดยลำดับ ตั้งแต่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ศาลฎีกาฯจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้อง ในการแก้ไขสัญญาดังกล่าว และผู้ถูกกล่าวหามีหุ้นในชินคอร์ป ผลประโยชน์จึงตกแก่ผู้ถูกกล่าวหา เงินที่ขายหุ้นให้เทมาเส็ก จึงได้มาโดยไม่สมควร

แก้ไขสัมปทานดาวเทียมเอื้อชินคอร์ป-มติเสียงข้างมาก

กรณีละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดย มิชอบหลายกรณี ได้แก่ การอนุมัติโครงการดาวเทียม IP STAR, การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ 5 วันที่ 27 ตุลาคม 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ ในบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ ที่เป็นผู้ขออนุมัติสร้างและส่งดาวเทียมไทคม และการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทคม 3 จำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ อันเป็นการเอื้อประโยชน์กับบริษัท ชินคอร์ป และบริษัท ชินแซท

วินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่ลัดขั้นตอน รีบเร่ง ผิดปกติวิสัย ทั้งนี้ ดาวเทียม IP STAR ไม่ได้เป็นดาวเทียมหลัก แทนไทคม 3 เป็นดาวเทียมใช้สื่อสารต่างประเทศ ผิดสัญญาตามที่ระบุว่า ใช้สื่อสารในประเทศ จึงอยู่นอกกรอบสัญญา เป็นการอนุมัติให้บริษัทผู้ถูกกล่าวหา ได้รับสัมปทานไปโดยไม่มีคู่แข่ง ทำให้รัฐเสียหายกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท องค์คณะจึงมีมติด้วยคะเสียงข้างมาก เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ และบริษัทไทคม

มติเสียงข้างมาก ยึดคืนเงินปล้นชาติ 4.6 หมื่นล้าน!

จากกรณีทั้งหมดดังกล่าวใน 5 กรณีที่ถูกกล่าวหา ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องที่ชัดแจ้ง 2 กรณี แปลงภาษีสรรพสามิต และอนุมัติปล่อยเงินกู้พม่า ส่วนอีก 3 กรณี ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพียงนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการบริหาร การดำเนินการทั้ง 5 กรณีดังกล่าว เป็นผลมาจากการใช้อำนาจหน้าที่ องค์คณะมีมติเสียงข้างมากว่า ผู้ถูกกล่าวหา ใช้อำนาจรัฐ ตามคำร้อง

เงินที่ได้จากการขายหุ้น ตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่ต้องวตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ เห็นว่า สินสมรส ต้องได้มาโดยชอบตามสมควร ผูถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของชินคอร์ป และร่วมดำเนินกิจการร่วมกันและมีผลประโยชน์ร่วมกันมา และตอนขายหุ้น ผู้คตัดค้านที่ 1 มีส่วนร่วมในการซื้อขาย โอนหุ่นให้คนอื่น แสดงให้เห็นเจตนาในการแสวงหาผลประโยชน์ตลอดมา ดังนั้นศาลจึงมีอำนาจให้เงินของผู้คัดค้านที่ 1 ตกเป็นของแผ่นดินได้ด้วย ส่วนเงินที่เป็นราคาหุ้นเดิมกว่า 3 หมื่นล้าน ให้คืนผู้ถูกกล้าวหาและผู้คัดค้านที่ 1 เพื่อความเป็นธรรม

ดังนั้น จึงถือว่า ประโยชน์จากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.2544 เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร ศาลมีมติด้วยเสียข้างมากว่า ทรัพย์ที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน 46,373,687,454.70 บาท

พิพากษาว่า ให้เงินที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผล 46,373,687,454.70 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

 

ASTV ผู้จัดการ News

กรุงเทพธุรกิจ - ข่าวหน้าแรก

เกาะติดสื่อ ตามข่าวร้อน Copyright © 2009 WoodMag is Designed by Ipietoon for Free Blogger Template