ข่าวเด่น ข่าวร้อนวันนี้ : กรุงเทพธุรกิจ

01 ธันวาคม 2552

กรุงเทพธุรกิจ : นักวิเคราะห์ฟันธง 'ดูไบ' ยังไม่พ้นวิกฤติ

รัฐบาลสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ เสนอให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ภาคธนาคาร เป็นขั้นตอนแรกในการคลายความกังวลที่ว่าบริษัทสำคัญ 2 แห่ง ผิดชำระหนี้

รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เสนอ ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ภาคธนาคาร ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกในการคลายความกังวลที่ว่า บริษัทสำคัญ 2 แห่ง ของนครรัฐดูไบผิดนัดชำระหนี้ และอาจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่นักวิเคราะห์มองว่าการที่ธนาคารกลางยูเออี ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเป็นมาตรการที่ต้องทำ และเป็นแค่การดำเนินการในขั้นต้นเท่านั้น

นายราจ มัดฮา นักวิเคราะห์ภาคธนาคารของบริษัท อีเอฟจี เฮอร์มีส กล่าวว่า สิ่งที่ยูเออีทำ ไม่ได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย และขณะนี้ คณะกรรมาธิการการคลังสูงสุดของดูไบ กำลังประชุมกัน เพื่อกำหนดนโยบายรับมือวิกฤตการณ์ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศนโยบายที่ชัดเจนออกมา

ตลาดก็มีแนวโน้มที่จะกังวลกับเรื่องนี้ต่อไป

วิกฤติหนี้ดูไบกลายเป็นข่าวที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก เมื่อรัฐบาลดูไบ ประกาศเมื่อวันพุธ (25 พ.ย.) เลื่อนกำหนดการชำระหนี้หลายพันล้านดอลลาร์ของบริษัทดูไบ เวิลด์ และบริษัทนัคฮีล ซึ่งเป็นกิจการอสังหาริมทรัพย์สำคัญในเครือ โดยนัคฮีลเป็นผู้พัฒนาเกาะรูปปาล์ม ที่ได้รับความสนใจจากคนดังและเศรษฐีทั่วโลก

ดูไบ เวิลด์ มีหนี้สิน 59,000 ล้านดอลลาร์ ในเดือนสิงหาคม ถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในยอดหนี้สินทั้งหมดของรัฐบาลดูไบที่ระดับ 80,000 ล้านดอลลาร์ โดยนักลงทุนต้องการทราบว่าการพักชำระหนี้นาน 6 เดือนของดูไบ เวิลด์ และนัคฮีลครั้งนี้ จะเกิดจากความสมัครใจหรือไม่สมัครใจของเจ้าหนี้ ซึ่งถ้าหากเจ้าหนี้ไม่มีโอกาสเลือกในเรื่องนี้ ตลาดก็จะมองว่าการปรับโครงสร้างดังกล่าวถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้

อย่างไรก็ตาม การเลือกให้ความช่วยเหลือแก่บางบริษัทของดูไบ อิงค์ ซึ่งเป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมที่มีรัฐบาลดูไบ ร่วมถือครองกรรมสิทธิ์อยู่ แทนที่จะให้ความช่วยเหลือแบบครอบคลุมในวงกว้าง อาจถือเป็นการเตือนให้นักลงทุนตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนจำนวนมากมองว่าอาบูดาบี ซึ่งเป็นนครรัฐที่มีความอนุรักษนิยมสูงกว่าดูไบ มีสถานะเหมือนเป็นโครงข่ายความคุ้มครองสำหรับดูไบ

ในสายตาของสื่อมวลชนท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการของรัฐบาล ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อวิกฤตการณ์นี้มากนักในช่วงแรก และหันมาวิพากษ์วิจารณ์สื่อต่างชาติ ว่า ทำให้เหตุการณ์นี้ดูร้ายแรงเกินความเป็นจริง อาทิเช่น หนังสือพิมพ์อัล บายาน ระบุว่า ดูไบเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมสำหรับจุดหมายทางการลงทุน ส่วนหนังสือพิมพ์กัลฟ์ นิวส์ ระบุว่า กระแสความไม่พอใจจากทั่วโลก ที่มีต่อการปรับโครงสร้างของดูไบ เวิลด์ เป็นสิ่งที่รุนแรงเกินความเป็นจริง

ราคาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดดูไบ อาจดิ่งลงอีก 20-30% และจะมีความกังวลมากยิ่งขึ้นในการหาช่องทางระดมทุน หลังจากดูไบเลื่อนเวลาชำระหนี้ของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ นอกจากนี้ การลดการจ้างงานอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์สำหรับภาคที่อยู่อาศัยด้วย

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในดูไบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ ของภูมิภาคตะวันออกกลาง ตอกย้ำให้เห็นถึงการขาดความโปร่งใสในเศรษฐกิจภูมิภาคนี้ และตอกย้ำความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงตลาดรัสเซีย กรีซ ไปจนถึงเม็กซิโก

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า การที่ข่าวนี้ออกมาในช่วงก่อนวันหยุด เนื่องในเทศกาล Eid al-Adha ของชาวมุสลิม การขาดการสื่อสารกับนักลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้ และการขาดแคลนรายละเอียดเกี่ยวกับแผนแก้ปัญหา ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือของดูไบ

ส่วนมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ให้ความเห็นว่า ดูไบอาจสูญเสียสถานะการเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย และอาจสูญเสียสถานะของศูนย์กลางการค้าและการบริการ อีกทั้ง ยังดับฝันของดูไบที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านการธนาคารในภูมิภาค หลังจากมีรายงานว่าดูไบอาจรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอาบูดาบี ซึ่งเป็นเมืองที่มั่งคั่งร่ำรวยจากการขายน้ำมัน

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส คาดว่าหนี้สินของดูไบอาจเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นหนี้เสียราว 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยบริษัทนัคฮีล ซึ่งเป็นผู้พัฒนาย่านคฤหาสน์หรูหราบนหมู่เกาะเป็นรูปต้นปาล์ม ที่มีชื่อเสียงของดูไบ เวิลด์ มีหุ้นกู้อิสลามในวงเงิน 3,500 ล้านดอลลาร์ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 ธันวาคม และมีตราสารหนี้ในวงเงิน 3,600 ล้านเดอร์แฮม (980 ล้านดอลลาร์) ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 13 พฤษภาคม 2553

ด้านนางทิเซียนา โบนาพาเซ นักเศรษฐศาสตร์ของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) มองว่าวิกฤติหนี้ที่เกิดขึ้นกับดูไบ เวิลด์ และบริษัทในเครือที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือดูไบ ตอกย้ำถึงความเปราะบางในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในเอเชียส่วนใหญ่จะฟื้นตัวแบบรูปตัววี

เอสแคป คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะเติบโต 6.3% ในปีหน้า หลังจากตอบสนองต่อวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายการคลังที่รัดกุม หรือการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับผลพวงจากวิกฤติที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายงานของเอสแคปฉบับนี้ ระบุว่า การฟื้นตัวในระยะยาวของภูมิภาคยังคงขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลประเทศ ต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ที่จะถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลาที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะฟองสบู่สินทรัพย์ และแสวงหากลไกใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจแทนที่ความต้องการจากกลุ่มเศรษฐกิจตะวันตก ที่นับวันจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ

ที่มา ข่าวการเงิน ข่าวการลงทุน ข่าวต่างประเทศ ข่าวดูไบ ข่าวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี UAE) จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

0 comments:

แสดงความคิดเห็น

 

ASTV ผู้จัดการ News

กรุงเทพธุรกิจ - ข่าวหน้าแรก

เกาะติดสื่อ ตามข่าวร้อน Copyright © 2009 WoodMag is Designed by Ipietoon for Free Blogger Template