ไทยรัฐ : รมว.คมนาคม สั่งตรวจสอบการแก้ไขสัญญาโทลเวย์ "ถวัลย์รัฐ" เป็นประธาน ให้สรุปผลภายใน 1 เดือน ด้าน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขู่ฟ้องศาลปกครอง ขีดเส้น 7 วัน ให้รัฐบาลระงับขึ้นค่าผ่านทาง...
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 22 ธ.ค. นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาการปรับค่าผ่านทางโครงการดอนเมืองโทลเวย์ โดยเฉพาะมีนำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญา ลงวันที่ 12 ก.ย. 2550 ข้อ 6 ที่ระบุว่าผู้รับสัมปทานตกลงจะยกเลิกข้อเรียกร้องการฟ้องร้องคดีต่อศาล และ/หรือ ข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ที่เกิดขึ้น หรือ อาจเกิดขึ้น ทั้งหมดจะต้องถอนฟ้องหรือถอนข้อพิพาทให้หมดสิ้นภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นกรมทางหลวง มีสิทธิยกเลิกข้อตกลงฉบับนี้ได้ ทำให้เห็นว่ายังมีช่องทางในการต่อสู้ได้ จึงสั่งการให้กรมทางหลวงชี้แจงรายละเอียดเรื่องนี้และตั้ง นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดระทรวงคมนาคม เป็นประธานตรวจสอบการแก้ไขสัญญาที่ผ่านมาให้สรุปผลภายใน 1 เดือน
นาย โสภณ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ยอมรับว่า ตนเพิ่งรับทราบข้อมูลว่า ในบันทึกข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาในปี 2550 ในข้อ 6 เขียนไว้ชัดเจนว่า ผู้รับสัมปทานจะต้องดำเนินการยกเลิกข้อร้องเรียน หรือ การฟ้องร้องที่เกิดขึ้นก่อนมีข้อตกลง แต่ปรากฏว่า กรณีของบริษัทวอเตอร์บาวน์ มีการยื่นฟ้องร้อง ตั้งแต่ปี 2548 แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมา กรมทางหลวง ไม่ได้มีการชี้แจงหรือรายงานในเรื่องนี้มาก่อน ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมทางหลวงชี้แจงรายละเอียดเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการอะไรในเรื่องนี้ไปบ้าง รวมทั้งหากไปเกี่ยวข้องกับใครทั้งอดีตนักการเมืองและอดีตข้าราชการ หากพบว่ามีส่วนทำให้รัฐเกิดความเสียหาย จะต้องรับผิดชอบ แม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม
นายโสภณ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบดูในรายละเอียด เพราะเชื่อว่า จนถึงขณะนี้ กรมทางหลวงยังสามารถใช้สิทธิในข้อ 6 ของข้อตกลงฉบับนี้ เพื่ออ้างสิทธิในกรณีที่ผู้รับสัมปทานได้ละเมิด และไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ซึ่งมีผลทำให้ข้อตกลงทั้งหมดนี้เป็นอันยกเลิกได้ ส่วนจะไปสั่งให้เอกชนไม่ปรับค่าผ่านทางนั้นคงทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบทุกครั้ง เนื่องจาก ไปละเมิดสัญญาก่อน คือไม่ยอมให้มีการปรับค่าผ่านทางตามสัญญา แต่ครั้งนี้ได้ดำเนินการตามข้อตกลงทุกอย่าง แต่จะต่อสู้ในประเด็นที่เอกชนละเมิดไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงก่อน
นอก จากนี้ นายโสภณ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ตนจะต้องเข้าไปดูรายละเอียดของแต่ละงานให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา รวมทั้งจะต้องลงพื้นที่ไปดูการจราจรด้วยตนเอง เพราะมีรายงานจากกรมทางหลวงว่า การจราจร ไม่ได้ติดขัดมาก ส่วนช่วงเย็นติดขัดเป็นปกติ จึงเห็นว่าจะขอลงพื้นที่เพื่อให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงทั้งหมด
เมื่อ เวลา 17.00 น. นายโสภณ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคมและสื่อมวลชนได้ไปตรวจสอบสภาพ การจราจรตลอดแนวเส้นทางของโครงการดอนเมืองโทลเวย์และบริเวณด้านล่างถนนวิภา วดีรังสิต ซึ่งเป็นชั่วโมงเร่งด่วน พบว่าการจราจรมีความคล่องตัว ยกเว้นบริเวณจุดที่เป็นทางเข้าออก จึงได้มอบหมายให้วิศวกรของกรมทางหลวงดำเนินการออกแบบเพื่อหาทางตัดบล็อก คอนกรีต (แบริเออร์) เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่สำหรับรถที่จะเข้าออกได้มากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า จากเอกสารการแก้ไขสัญญาในข้อ 6 ระบุว่า ผู้รับสัมปทานจะต้องยกเลิกข้อเรียกร้องและการฟ้องร้องต่างๆ ได้แก่ การก่อสร้างถนนท้องถิ่น (Local Road) การไม่อนุญาตให้ปรับค่าผ่านทางในอดีต การจัดหาเงินกู้ผ่อนปรน ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงในอดีต การก่อสร้างทางเบี่ยงบนถนนวิภาวดีรังสิต การคืนหนังสือค้ำประกันล่าช้า การก่อสร้างสะพานลอยบนถนนวิภาวดีรังสิตบริเวณแยกลาดพร้าวและแยกสุทธิสารของ กทม. การย้ายสนามบินดอนเมืองไปสุวรรณภูมิ และการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมต่อเข้าสนามบินดอนเมือง (ฝั่งขาเข้ากรุงเทพ)
ด้าน นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องพิจารณาข้อกฎหมายให้รอบคอบ เพราะในข้อตกลงฉบับเดียวกันนี้ ในข้อ 5 กำหนดว่าการปรับค่าผ่านทางซึ่งเอกชนได้เสนอเป็นตารางการปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี ตั้งแต่ปี 2552 ไปถึงปี 2577 โดยระบุว่า ผู้รับสัมปทานไม่ต้องขอนุญาตจากกรมทางหลวง แต่ต้องแจ้งให้กรมทางหลวงทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน และมีการประกาศ และ ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร ซึ่งถือว่าเอกชนได้ดำเนินการตามเงื่อนไขนี้แล้วเช่นกัน
นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า ในรายละเอียดเดิมนั้น สัญญาที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2532 กำหนดอายุสัมปทาน 25 ปี กำหนดค่าผ่านทางตั้งแต่ 20 บาทไปจนถึง 30 บาท เมื่อครบกำหนดในปี 2557 แต่ปรากฏว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีนโยบายการก่อสร้างถนนโลคัลโรด และสะพานข้ามแยกต่างๆ ที่ผู้รับสัมปทานอ้างเหตุทำให้สูญเสียรายได้ รวมทั้งในรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจเป็น รมว.คมนาคม มีการต่อรองให้เอกชนปรับลดค่าผ่านทางจาก 30 บาท เหลือ 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่ปี 2546 - 2550 รวม ทั้งที่ผ่านมา เอกชนมีการฟ้องร้องในหลายประเด็นจากผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีการเจรจาต่อรองเพื่อยกเลิกคดีความ และการฟ้องร้องทั้งหมด และชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับเอกชน จึงเป็นที่มาของการขยายอายุสัมปทาน และมีการตกลงให้ปรับค่าผ่านทางตามสัญญา
นายสุพจน์ กล่าวว่า ในตารางการปรับค่าผ่านทาง กำหนดทุกๆ 5 ปี เริ่มจากปี 2552 รถ 4 ล้อ ช่วงดินแดง - ดอนเมือง ปรับจาก 35 บาทเป็น 60 บาท ในปี 2557 ปรับเป็น 70 บาท ปี 2562 ปรับเป็น 80 บาท และปี 2567 ปรับเป็น 90 บาท และปี 2572 ถึงสิ้นสัมปทาน ปรับเป็น 100 บาท ส่วนช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์ ในปี 2552 ปรับจาก 15 บาทเป็น 20 บาท และเพิ่มขึ้นครั้งละ 5 บาท ทุกๆ 5 ปี ซึ่งสูงสุดอยู่ที่ 45 บาท ทำให้ตลอดโครงการ ราคาค่าผ่านทางตลอดเส้นทางจะไปอยู่ที่ 145 บาท สำหรับ รถมากว่า 4 ล้อ นั้น ในปี 2552 ปรับจาก 65 บาท เป็น 90 บาท และ ในปี 2557 ปรับเพิ่มเป็น 100 บาท ปี 2562 ปรับเป็น 110 บาท ปี 2567 ปรับเป็น 110 บาท และ ปี 2567 ถึงสิ้นอายุสัมปทาน ปรับเป็น 130 บาท ส่วนช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ในปี 2552 ปรับจาก 30 บาทเป็น 35 บาท และมีการปรับเพิ่มขึ้นครั้งละ 5 บาท ทุกๆ 5 ปี ราคาในช่วงนี้จะไปสูงสุดที่ 55 บาท ทำให้รถมากกว่า 4 ล้อ ต้องเสียค่าผ่านทางรวมทั้งเส้นทางสูงสุดที่ 185 บาท
ในวันเดียวกัน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการขึ้นค่าทางด่วนโทลเวย์ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท โดยระบุว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เป็นการคิดค่าบริการที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่สอดคล้องกับภาวะรายได้และค่าครองชีพของประชาชน แม้จะอ้างทำตามสัญญาสัมปทาน แต่ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ ถือว่าเป็นการอนุมัติให้ขึ้นราคาโดยไม่รักษาผลประโยชน์ของสาธารณะอย่างเพียง พอ ยื่นคำขาดภายใน 7 วัน หากรัฐบาลไม่ดำเนินการในเรื่องนี้จ ะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลแพ่งที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค
นาง สาวสารี กล่าวอีกว่า กรมทางหลวงกำลังดำเนินการขัดต่อรัฐธรรมนูญในการอนุมัติให้ขึ้นค่าทางด่วน โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจทางปกครอง สั่งการให้กรมทางหลวง ยุติการอนุมัติให้ขึ้นราคา ไม่อย่างนั้นจะดำเนินการฟ้องร้องต่อคณะรัฐมนตรีที่ ดำเนินการโดยไม่รักษาผลประโยชน์สาธารณะ และกำหนดอัตราค่าบริการสาธารณะอย่างไม่สมเหตุสมผล ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับบริการสาธารณะในอัตราที่อิงกับต้นทุน มิใช่อัตราการคืนทุนตามที่กำหนดโดยสัญญาตามอำเภอใจเจ้าของทุน
"การ ยื่นฟ้องร้องต่อศาลจะรวมกรณีปรับค่าผ่านทางดอนเมืองโทลเวย์ และปรับค่าผ่านทางด่วนก่อนหน้านี้ด้วย หากรัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้ยังมีคดีทางด่วนเดิมที่จะต้องเรียกร้องสิทธิ เช่นกัน" นางสาวสารี กล่าว
นางสาวสารี กล่าวอีกว่า การอ้างของคณะรัฐมนตรี เป็นการอ้างที่ทำลายความชอบธรรมของการ มีรัฐบาลเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ หากสัญญาที่ทำกับเอกชนมุ่งหวังผลตอบแทนจากการลงทุนปิดปากอำนาจของรัฐในการ กำหนดอัตราค่าบริการที่เรียกเก็บจากประชาชน จึงเป็นสัญญาปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายปกครอง ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง สัญญาปกครองเป็นสัญญาที่อนุญาตให้เอกชนทำบริการสาธารณะแทนรัฐ สัญญานี้ไม่ได้เกี่ยวพันแค่คู่สัญญา แต่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมากที่ต้องรับผลจากสัญญานี้ด้วย
เมื่อ เวลา 17.30 น.วันเดียวกัน นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานคณะกรรมการ บริษัททางยกระดับดอนเมืองฯ เปิดเผยว่า หลังเริ่มใช้ค่าผ่านทางใหม่เป็นวันแรก พบว่า ปริมาณจราจรลดลงประมาณ 31% หรือ 2.4 หมื่นคัน จากเดิมที่มีผู้ใช้บริการวันละประมาณ 8 หมื่นคัน ส่วนรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือ ประมาณ 4 แสนบาท จากเดิมที่มีรายได้วันละ ประมาณ 4 ล้านบาท แต่คาดว่า ในระยะต่อไปปริมาณจราจรจะกระเตื้องขึ้น เพราะผู้ใช้บริการจะเห็นว่าการใช้ โครงการดอนเมืองโทลเวย์จะคุ้มค่าและสะดวกกว่าใช้ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งมีปัญหาจราจรแออัด ส่วนกรณีการฟ้องร้องของ บริษัท วอเตอร์บาวด์ ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ให้จ่ายค่าเสียหาย จำนวน 29 ล้านยูโรนั้น ต้องเข้าใจว่าเป็นการฟ้องร้อง ในฐานะนักลงทุนจากเยอรมนี ที่มาลงทุนในประเทศไทย แต่ไม่ได้เป็นการฟ้องร้องในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทแต่อย่างใด เพราะประเทศไทยมีข้อตกลงกับเยอรมนี จะเห็นได้ว่ามีนักลงทุนจากฝรั่งเศส ถือหุ้นในบริษัท แต่ไม่ได้ฟ้องร้องใดๆ เพราะไทยไม่มีข้อตกลงคุ้มครองนักลงทุนจากฝรั่งเศส
“ผมยืนยันว่า บริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับการฟ้องร้องของบริษัทวอเตอร์บาวด์ แต่เขาฟ้องในฐานะที่มาลงทุนในประเทศไทย และ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ประเด็นนี้จึงไม่น่าเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการขยายอายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งก่อนหน้านี้วอเตอร์บาวด์ถือหุ้นในบริษัทประมาณ 10% แต่ปัจจุบันไม่มีสัดส่วนหุ้นเหลืออยู่ในบริษัทแล้ว” นายสมบัติ กล่าว
นาย โอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ตนได้รับร้องเรียนจากประชาชนที่ใช้บริการรถตู้ที่ต้องขึ้นโทลเวย์ปรับขึ้น ราคา 5 บาท และ รถร่วม ขสมก. สาย 538 วิ่งระหว่างราชมงคล คลอง 6 - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ขึ้นโทล์เวย์) ได้ปรับราคา เนื่องจาก กระเป๋ารถเมล์สายดังกล่าว ได้เก็บค่าโดยสารผู้โดยสาร ที่ต้องเดินทางไปอนุสาวรีย์ เพิ่มอีก 1 บาท เช่น จากคลอง 4 จากเดิม 20 บาท เป็น 21 บาท โดยให้เหตุผลกับผู้โดยสารว่า สาเหตุที่จะต้องปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 1 บาท นั้น เป็นเพราะค่าผ่านทางได้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนขอให้ประชาชนที่ถูกเก็บค่าโดยสารเกินราคาที่คณะกรรมการ ควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กำหนด เก็บตั๋ว ไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดกับรถโดยสารต่อไป โดยให้แจ้งไปที่ หมายเลขสายด่วน 184 ของ ขสมก. และ สายด่วนศูนย์ปลอดภัยคมนาคม 1584 และ ในเบื้องต้นตนจะหารือ กับ นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ อธิบดีกรมขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับรถร่วมบริการที่ปรับขึ้นราคา โดยอ้างเหตุผลว่าต้องจ่ายค่าทางด่วนเพิ่ม ซึ่งเป็นการกระทำผิดต่อระเบียบการจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งอาจต้องเรียกมาว่ากล่าวตักเตือน
ที่มา ข่าวขึ้นราคาทางด่วนโทลล์เวย์ จาก ไทยรัฐออนไลน์
ข่าวเด่น ข่าวร้อนวันนี้ : กรุงเทพธุรกิจ
23 ธันวาคม 2552
สอบสัญญาโทลล์เวย์ ขู่ฟันทำรัฐเสียหาย
Author: Admin.
| Posted at: 09:51 |
Filed Under:
ทางด่วนโทลล์เวย์,
ไทยรัฐ
|

สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 comments:
แสดงความคิดเห็น